สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพะเยา
“Research and Development is the
transformation of money into knowledge.
Innovation is the transformation
of knowledge into money.”
Dr.Nicholson, Retired 3M Vice President
งานวิจัย R2R และนวัตกรรมด้านสุขภาพ
ปัจจุบันมีการลงทุนสำหรับการวิจัยและพัฒนาด้านสุขภาพมากขึ้น แต่ก็ยังมีความต้องการงบประมาณมากขึ้นเนื่องจากการวิจัยและพัฒนาแต่ละอย่างต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ซึ่งระดับการลงทุนในปัจจุบันยังไม่เพียงพอ ซึ่งอาจแบ่งงานวิจัยด้านสุขภาพออกเป็น 9 ด้าน ได้แก่
1. การวิจัยพื้นฐาน เป็นงานวิจัยที่เป็นรากฐานสำหรับการวิจัยเกี่ยวกับสาเหตุของโรค การพัฒนา การค้นหา การรักษา การจัดการโรคและความเจ็บป่วย
2. การศึกษาเกี่ยวกับสาเหตุของโรค เป็นงานวิจัยเพื่อค้นหาสาเหตุ การระบุปัจจัยที่เป็นสาเหตุหรือความเสี่ยงต่อโรค หรือการดำเนินของโรคและภาวะความเจ็บป่วย
3. การป้องกันโรคและการสร้างเสริมสุขภาพ เป็นงานวิจัยเพื่อป้องกันไม่ให้เจ็บป่วย หรือการสร้างเสริมให้มีสุขภาพที่ดี
4. การตรวจหา การคัดกรอง และการตรวจวินิจฉัยโรค เป็นงานวิจัยเพื่อคิดค้น พัฒนา และประเมินเทคโนโลยีในการตรวจหา การคัดกรองและการตรวจวินิจฉัย เพื่อพยากรณ์หรือทำนายโรค
5. การพัฒนาวิธีการรักษาและมาตรการสำหรับการรักษา เป็นงานวิจัยเพื่อพัฒนาวิธีการรักษาและการบำบัดโรค การทดสอบในแบบจำลองและห้องปฏิบัติการก่อนการทดสอบในมนุษย์
6. การประเมินวิธีการรักษาและมาตรการสำหรับการรักษา เป็นงานวิจัยเพื่อการทดสอบและประเมินวิธีการบำบัด รักษาโรคในหน่วยบริการหรือในชุมชน
7. การจัดการโรคและภาวะความเจ็บป่วย เป็นงานวิจัยเพื่อประเมินผลกระทบของโรคและความจำเป็นในการดูแลรักษาระดับบุคคล
8. การวิจัยการให้บริการสุขภาพและการดูแลทางสังคม เป็นงานวิจัยที่เกี่ยวกับการจัดและให้บริการสุขภาพและการดูแลทางสังคม และนโยบายสุขภาพ รวมถึงการศึกษาวิจัยด้านการออกแบบ การวัด และระเบียบวิธีวิจัยที่เกี่ยวข้อง
9. การวิจัยด้านนโยบายและระบบสุขภาพ เป็นงานวิจัยเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพ ซึ่งระเบียบวิธีวิจัยจะต้องมีการออกแบบเป็นอย่างดี เนื่องจากมีความยากในการควบคุมสิ่งแวดล้อมหรือบริบทที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจต้องใช้นักวิจัยสหสาขา เช่น นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมวิทยา มานุษยวิทยา การเมืองและสาธารณสุข ซึ่งหากใช้ six building blocks ตามกรอบขององค์การอนามัยโลก จะแบ่งการวิจัยระบบสุขภาพได้อีก 6 กลุ่มคือ การอภิบาลระบบสุขภาพ กำลังคนด้านสุขภาพ ระบบบริการสุขภาพ ระบบข้อมูลสารสนเทศด้านสุขภาพ เทคโนโลยีด้านสุขภาพและยา การเงินการคลังสุขภาพ (ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์, รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร/ผู้จัดการงานวิจัย)